ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ ๒๘ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ ๒๘ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ธ.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 608 view

เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ ๒๘ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ นายเก-ออร์ค ชมิท เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจําประเทศไทย และนายไบรอัน จอห์น เดวิดสัน เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย โดยผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ มีดังต่อไปนี้

สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ (Dr. Ralf F.W. Bartenschlager) จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ศาสตราจารย์ ดร. ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ มีผลงานที่โดดเด่นคือการศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus หรือ HCV) นำไปสู่องค์ความรู้ในการพัฒนายาต้านไวรัสที่เรียกว่า ดีเอเอ (DAA : Direct Acting Antiviral) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง มีความจำเพาะ และปลอดภัย สามารถรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรังให้หายได้ถึงร้อยละ 95 โดยมีผลข้างเคียงน้อยลง

ผลงานการศึกษาและค้นพบที่สำคัญของศาสตราจารย์ ดร. ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ ทำให้สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นอันตรายถึงชีวิตและสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายล้านคนทั่วโลก

สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เดวิด เมบี (Professor David Mabey) จากสหราชอาณาจักร

ศาสตราจารย์นายแพทย์เดวิด เมบี ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงตามากว่า ๓๐ ปี ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ทำให้ตาบอดได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามิเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยตาบอดหรือเกิดความพิการทางสายตามาแล้วถึง ๑.๙ ล้านคนทั่วโลก การติดเชื้อแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากตาหรือจมูกของผู้ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีสุขอนามัยไม่ดี  ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น  และไม่มีแหล่งน้ำสะอาดที่เข้าถึงได้เพียงพอ

ผลงานและความพยายามในการศึกษาวิจัยเพื่อควบคุมและกำจัดโรคริดสีดวงตาของศาสตราจารย์นายแพทย์เดวิด เมบี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนหลายล้านคนทั่วโลกดีขึ้น

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ในวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง