ข้อมูลสำหรับคนไทย
วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐเซเนกัล
The Republic of Senegal
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือ ติดกับมอริเตเนีย
ทิศใต้ ติดกับกินีและกินีบิสเซา
ทิศตะวันออก ติดกับมาลี
ทิศตะวันตก ติดกับแกมเบียและมหาสมุทรแอตแลนติก
พื้นที่ 96,840 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง ดาการ์ (Dakar)
เมืองสำคัญ Thies, Kaolack, St. Louis, Ziquinchor
ภูมิอากาศ มีภูมิอากาศที่แตกต่างในแต่ละภาค เช่น ในบริเวณชายฝั่งจะมีอากาศเย็นภาคใต้อากาศร้อน และมีฝนตกชุก ระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม เป็นฤดูหนาวและแห้งแล้งติดต่อกันไม่มีฝนตก อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 18-29 องศาเซลเซียส ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนจะมีอากาศร้อนและมีฝนตก
ประชากร 12.8 ล้านคน
เชื้อชาติ Wolof 43.3%, Pular 23.8%, Serer 14.7%, Jola 3.7%, Mandink 3%, Soninke 1.1%, European and Lebanese 1%, Others 9.4%
ศาสนา อิสลาม ร้อยละ 94 คริสต์ ร้อยละ 5 และความเชื่อดั้งเดิม ร้อยละ 1
ภาษา ภาษาฝรั่งเศส (เป็นภาษาราชการ) นอกจากนี้ มีภาษา Wolof Pulaar Jolaและ Mandinka
ระบบการปกครอง ระบอบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ปัจจุบัน คือ นาย Abdoulaye WADE ได้รับเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อปี 2543 และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ประธานาธิบดี นาย Abdoulaye Wade
นายกรัฐมนตรี นาย Cheikh Hadjibou Soumaré
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Cheikh Tidiane Gadio
วันชาติ 4 เมษายน 1960 (Independence Day) ซึ่งเป็นวันที่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส
การเมืองการปกครอง
1. เซเนกัลมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐตามระบอบประชาธิปไตย โดยมีพรรคการเมืองหลายพรรค ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล ทั้งนี้ ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี สำหรับนายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยการปรึกษาหารือกับประธานาธิบดี ระบบรัฐสภาของเซนัลเป็นแบบสภาเดียว โดยมีสมาชิก 120 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไปแบบแบ่งเขต 65 คน และระบบรายชื่อ 55 คน สมาชิกรัฐสภาอยู่ในตำแหน่งสมัยละ 5 ปี ฝ่ายตุลาการ มีศาลรัฐธรรมนูญ สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ทั้งนี้ เซเนกัลเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค แอฟริกาตะวันตก และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในแอฟริกา ซึ่งไม่เคยมีการปฏิวัติรัฐประหาร
2. ดินแดนเซเนกัลได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 โดยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกานา ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 โปรตุเกสเริ่มจัดตั้งสถานีการค้าในบริเวณดังกล่าว ตามด้วยชาวดัทช์ อังกฤษ และฝรั่งเศส ในปี 2438 ฝรั่งเศส ได้เข้ายึดครองดินแดน ประเทศเซเนกัลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแอฟริกา ตะวันตกของฝรั่งเศส
3. ในปี 2503 ดินแดนเซเนกัลได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาลีจนได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศสในปีต่อมา แต่ได้แยกตัวออกเป็นอิสระในเดือนสิงหาคม 2504 และจัดตั้งสาธารณรัฐเซเนกัล โดยมีนาย Sedar Senghor เป็นประธานาธิบดีคนแรก และมีการปกครองในระบบพรรคการเมืองเดียวโดยพรรค Union progressiste sénégalais (UPS)
จนกระทั่งในปี 2517 ซึ่งรัฐบาลได้อนุญาตให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และมีการเลือกตั้งในระบบหลายพรรค อย่างไรก็ตาม พรรค UPS ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น พรรค Partie socialiste (PS) ยังคงได้รับเสียงข้างมากในรัฐบาล และปกครองประเทศอย่างต่อเนื่อง
4. ประธานาธิบดี Senghor ได้ก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อปี 2524 โดยนาย Abdou Diouf ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสืบแทน และดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2534 ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านจนต้องมีการจัดตั้งรัฐบาล แห่งชาติขึ้น อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งและปัญหาทางการเมืองยังมีต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้พรรค PS ของรัฐบาลได้รับความนิยมน้อยลงเป็นลำดับ
5. ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2543 ประธานาธิบดี Diouf ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 50 ทำให้จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งรอบที่สอง ทำให้ผู้สมัครคนอื่น ๆ ได้หันไปให้การสนับสนุนนาย Abdoulaye Wade ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน Senegalese Democratic Party (PDS) จนได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในปี 2544 ปรากฏว่า พรรค PDS ได้รับเสียงข้างมากเอาชนะพรรค PS ซึ่งปกครองประเทศมาตั้งแต่ได้รับเอกราชด้วย
6. เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 2550 ประธานาธิบดี Abdoulaye Wade ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง โดยจะมีวาระการดำรงตำแหน่งอีก 5 ปี (เดิมรัฐธรรมนูญเซเนกัลได้กำหนดให้การดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีมีวาระ 7 ปี) ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2550 รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายเพื่อเปลี่ยนรูปแบบองค์กร โดยกำหนดให้มีสภา 2 สภาเหมือนในอดีต (เคยเปลี่ยนเป็นระบบสภาเดียวตั้งแต่ปี 2544) ประกอบด้วยสมัชชาแห่งชาติ (สภาผู้แทนราษฎร) และวุฒิสภา
7. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปี 2550 ได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเซเนกัล ซึ่งได้สิ้นสุดวาระลงเมื่อเดือนเมษายน ปี 2550 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้มาใช้ สิทธิเลือกตั้งเพียงร้อยละ 38 ซึ่งต่ำกว่าปี 2544 ที่สูงถึงร้อยละ 67.4 สาเหตุอาจเนื่องมาจากการที่กลุ่มพรรคฝ่ายค้านหลัก (Front for the Restoration of Senegal) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับเสียงสนับสนุนกว่าร้อยละ 40 คว่ำบาตรการเลือกตั้งดังกล่าวในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
8. อย่างไรก็ดี เซเนกัลเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก โดยเป็นประเทศเดียวในแอฟริกา ที่ไม่เคยมีการปฏิวัติรัฐประหาร และยังเป็นประเทศที่มีบทบาทอย่างมากในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการจัดตั้งกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) สหภาพแอฟริกา (AU) กลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส (Francophonie( และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้ง NEPAD โดยรัฐบาลเซเนกัลสนับสนุน NEPAD ให้เป็นหัวใจสำคัญของนโยบายต่างประเทศในการสร้างบทบาทนำของตนในเวทีภูมิภาค ตลอดจนเพื่อผลักดันการขอเงินสนับสนุนช่วยเหลือ และการผ่อนปรนหนี้ให้แก่ แอฟริกา
นโยบายต่างประเทศ
1. ประธานาธิบดี Wade ดำเนินนโยบายผลักดันบทบาทเซเนกัล ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2544 ประธานาธิบดี Wade เข้าดำรงตำแหน่งประธานของประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก Economic Community of West African States (ECOWAS) และ สหพันธ์เศรษฐกิจ และการเงินแห่งแอฟริกาตะวันตก Treaty on West African Economic and Monetary Union (WAEMU) และ เมื่อเดือนมิถุนายน 2545 ได้ร่วมกับประธานาธิบดี Thabo Mbeki แห่งแอฟริกาใต้ และประธานาธิบดี Olusegun Obasanjo แห่งไนจีเรียเสนอแนวคิด New Partnership for Africa’s Development (NEPAD) ในการประชุมกลุ่ม G8 ที่แคนาดา ซึ่งต่อมา NEPAD ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางให้เป็นกรอบการพัฒนาของภูมิภาคแอฟริกา ทั้งนี้ รัฐบาลเซเนกัลสนับสนุน NEPAD ให้เป็นหัวใจสำคัญของนโยบายต่างประเทศในการสร้างบทบาทนำของตนในเวทีภูมิภาค ตลอดจนเพื่อผลักดันการขอความสนับสนุนเงินช่วยเหลือและการผ่อนปรนหนี้ให้แก่ แอฟริกา
2. กองทัพเซเนกัลยังมีบทบาทในการรักษาสันติภาพทั้งใน และนอกภูมิภาค โดยได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปในรวันดา แอฟริกากลาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โกตดิวัวร์ ไลบีเรีย และโคโซโวในฐานะส่วนหนึ่งของกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาติ ล่าสุดผู้แทนเซเนกัลได้สมัครรับเลือกตั้งซ้ำในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และเซเนกัลได้แสดงความประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชา ชาติด้วย
3. ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยทั่วไปความ สัมพันธ์เป็นไปด้วยความราบรื่น อย่างไรก็ดี แม้ว่าในปัจจุบันเซเนกัลจะไม่มีปัญหาพรมแดนกับมอริเตเนียซึ่งเป็นประเทศ เพื่อนบ้านแล้ว แต่ก็ยังประสบกับปัญหาผู้ลี้ภัยชาวมอริเตเนียที่ตกค้างอยู่ที่เซเนกัลจำนวน 35, 000 ถึง 40,000 คน
4. เซเนกัลยังมีบทบาทสำคัญในฐานะสมาชิกองค์การการ ประชุมอิสลาม (OIC) ในปี 2551 เซเนกัลเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ OIC ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม 2551 ณ กรุงดาการ์ ทั้งนี้ ในโอกาสของการประชุมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Wade ได้มีบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้มีการลงนามความ ตกลงเพื่อสันติภาพระหว่างสาธารณรัฐชาดและสาธารณรัฐซูดาน เพื่อการฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคงระหว่างสองประเทศ และรวมไปถึงอนุภูมิภาคอีกด้วย อนึ่ง เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2549 ประธานาธิบดี Wade ในฐานะประธานของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติในเรื่องสิทธิของชนชาวปาเลสไตน์ และในฐานะที่เป็นTroika ของ OIC ได้ออกแถลงการณ์ที่สหประชาชาติเพื่อหาข้อยุติการสู้รบในประเทศเลบานอน ระหว่างฝ่าย Hezbollah กับอิสราเอล ทั้งนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ Abdallah Ben Abdel Aziz ALSAOUD แห่งซาอุดีอาระเบีย
5. รัฐบาลเซเนกัลมีนโยบายสร้างความปรองดองระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาที่แตกต่างในประเทศ ประธานาธิบดี Abdoulaye Wade ภูมิใจที่เซเนกัลมีชาวมุสลิมอยู่ถึงร้อยละ 95 แต่ชาวคริสต์สามารถอยู่ด้วยกันอย่างเสรีและไม่มีความขัดแย้ง นอกจากนี้ ประธานาธิบดี Wade มีนโยบายเร่งสร้างมหาวิทยาลัย Universite du Futur Africaine โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาของแอฟริกา
6. ในปี 2548 รัฐบาลของประธานาธิบดี Abdoulaye Wade ได้ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอีกครั้ง ตามนโยบาย “ทางเลือกใหม่” (alternance) และประธานาธิบดี Abdoulaye Wade เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 21-26 มิถุนายน 2549 การเยือนครั้งนี้นับเป็นการเยือนเป็นทางการครั้งแรกนับจากทั้งสองประเทศได้ เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 โดยก่อนหน้านี้นาย Mackey Sall นายกรัฐมนตรีของเซเนกัลได้เยือนจีนเมื่อเดือนเมษายน 2549 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างเซเนกัลกับจีนด้วย
7. ล่าสุด นาย Hu Jintao ประธานาธิบดีจีนได้เยือนเซเนกัล เมื่อวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งถือว่าเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากนาย Hu เป็นประธานาธิบดีจีนคนแรกที่ได้เยือนเซเนกัลอย่างเป็นทางการ โดยในโอกาสนี้ได้มีการลงนามในเอกสารสำคัญ 5 ฉบับ ซึ่งเน้นไปที่ความตกลงเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเซเนกัล
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้มอบเงินช่วยเหลือแก่เซเนกัลอีกกว่า 9 พันล้าน ฟรังส์เซฟา (18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และตกลงที่จะสร้างโรงละครแห่งชาติ และมอบเงินให้สำหรับโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ของเซเนกัลอีกด้วย ซึ่งการเยือนในครั้งนี้ ประธานาธิบดีของเซเนกัลกล่าวแสดงความพอใจ กับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เป็นอย่างมาก รวมทั้งได้แสดงความชื่นชมบริษัทก่อสร้างจีนว่ามีศักยภาพสูงและจะมอบหมาย โครงการก่อสร้างใหม่ ๆ ให้กับบริษัทจีนดำเนินการต่อไป
เศรษฐกิจการค้า |
ข้อมูลเศรษฐกิจ/การค้า (ประมาณการปี 2550)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 11.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทย 245.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 4.2 (ไทย ร้อยละ 4.9)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 5.9 (ไทย ร้อยละ 2.3)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 906 ดอลลาร์สหรัฐ (ไทย 3578.5 ดอลลาร์สหรัฐ)
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 48 (ไทย ร้อยละ 1.4)
อุตสาหกรรมที่สำคัญ การแปรรูปสินค้าเกษตรและปลา เหมืองแร่ฟอสเฟต ปุ๋ย การกลั่นปิโตรเลียม แร่เหล็ก เหมืองทอง วัสดุก่อสร้าง การต่อเรือและซ่อมแซม
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 1.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทย 111 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ดุลการค้ากับไทย ปี 2551
มูลค่าการค้าไทยและเซเนกัลมี 273.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไทยส่งออก 265.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า 8.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไทยได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 257.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าออกที่สำคัญของเซเนกัล ปลา ถั่ว ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ฟอสเฟต ฝ้าย
สินค้าเข้าที่สำคัญของเซเนกัล อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่ใช้เป็นทุน น้ำมัน
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ (สถิติปี 2550) เซเนกัลส่งออกไป มาลี 18.9% ฝรั่งเศส 9.1% อิตาลี 5.9% อินเดีย 5.7%แกมเบีย 5.2%
เซเนกัลนำเข้า ฝรั่งเศส 22.2% เนเธอร์แลนด์ 10% จีน 7.4% สหราชอาณาจักร 6.2% ไทย 5.2% เบลเยี่ยม 4.5%
หน่วยเงินตรา เงินฟรังก์เซฟา (Communaute Financiere Africaine Franc หรือ XOF) อัตราแลกเปลี่ยน 513.14 เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14.23ฟรังก์เซฟาเท่ากับ 1 บาท
สภาพทั่วไปทางเศรษฐกิจ
เซเนกัลเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก โดยภาคเศรษฐกิจประกอบด้วย
ภาคบริการ (การท่องเที่ยว) ร้อยละ 60
ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 20
ภาคการเกษตร ร้อยละ 20 ของรายได้ประชาชาติ
ภาคเกษตรยังคงเป็นหัวใจของเศรษฐกิจเนื่องจากแรงงานร้อยละ 70 อยู่ในภาคการเกษตร รายได้หลักของประเทศมาจากการส่งออกสินค้าภาคเกษตร อาทิ ถั่วลิสง การประมง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ฟอสเฟต ฝ้าย การท่องเที่ยวและการบริการ อย่างไรก็ตาม เซเนกัลยังคงพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยผู้ให้ความช่วยเหลือเซเนกัลประกอบด้วย ฝรั่งเศส กองทุนการเงินระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา USAID ญี่ปุ่น เยอรมนี แคนาดา และหน่วยงานของสหประชาชาติ เป็นต้น
รัฐบาลเซเนกัลได้รับแรงกดดันจากองค์การระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะ IMF และ World Bank ให้เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศจากเดิมที่เป็นสังคมนิยมให้เป็นทุนนิยม สนับสนุนการค้าเสรีโดยได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการกีดกันทางการค้า และเปิดเสรีรัฐวิสาหกิจ (privatization)
รัฐบาลเซเนกัลมุ่งดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจโดย เน้น 4 สาขาหลัก ประกอบด้วย นโยบายการคลัง การปฏิรูปโครงสร้าง การแก้ไขปัญหาความยากจน และการสนับสนุนภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังดำเนินแผนการลดความยากจนและการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Poverty Reduction and Growth Facility: PRGF) 3 ปี ตามที่ IMF ได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อเมษายน 2546 โดยเน้นการปฏิรูปภาคการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเปิดเสรีกฎหมายแรงงาน (liberalising labour legislation) การกระตุ้นกลไกตลาด การสร้างงานใหม่ และการสนองตอบความต้องการพื้นฐานของผู้ยากไร้ผ่านโครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการเพิ่มสมรรถภาพ (Capacity building) การปฏิรูปภาครัฐ ตลอดจนแปรรูปวิสาหกิจ นอกจากนี้ รัฐบาลได้เริ่มดำเนินโครงการขนาดใหญ่ อาทิ การสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ การขยายเครือข่ายถนนและการพัฒนาท่าเรือ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของเอกชนทั้งจากท้องถิ่นและต่างประเทศ
ในภาพรวม เซเนกัลถือว่าประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ดังจะเห็นได้จากตัวเลข GDP ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ในปี 2538 – 2550 และอัตราเงินเฟ้อลดลงมาในระดับเลขเดียว (single digit) นอกจากนี้ หลังจากที่เข้าร่วมโครงการเพื่อบรรเทาหนี้สำหรับประเทศที่มีหนี้สินระหว่าง ประเทศในระดับสูง (Highly Indebted Poor Countries-HIPC) ของ IMF ทำให้เซเนกัลสามารถปลดหนี้ได้ถึง 2 ใน 3 ของหนี้ระหว่างประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ดี เซเนกัลยังประสบปัญหาว่างงาน และมีแรงงานจำนวนมากที่เข้าไปทำงานในยุโรปอย่าง ผิดกฎหมาย
นโยบายของ นรม. Cheikh Hadjibou Soumare มุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยเน้นไปที่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ อาทิ โครงการสร้างสนามบินแห่งใหม่ โครงการปรับปรุงท่าเรือ โครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคม เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลเซเนกัลยังแสดงความสนใจเรื่องการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหาร (food sufficiency) เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้เซเนกัลจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากต่างประเทศเป็น จำนวนมากและทำให้ขาดดุลการค้ามาโดยตลอด รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 13 ล้านฟรังก์เซฟา เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนา สินค้าเกษตร
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเซเนกัล |
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 ด้านการทูต
ไทยและเซเนกัลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง กันเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2523 และไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี 2523
ปัจจุบันเอกอัครราชทูตไทยประจำเซเนกัล คือ นาวาตรีอิทธิ ดิษฐบรรจง ร.น. ปัจจุบัน เซเนกัลยังมิได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตใดดูแลประเทศไทย หลังจากที่เคยมอบหมายให้เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงดูแลประเทศไทย (เซเนกัลเคยมอบหมายให้เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงดูแลประเทศไทยหลังจากที่ถูก จีนตัดความสัมพันธ์ทางการทูตเนื่องจากเซเนกัลไปสถาปนาความสัมพันธ์กับ ไต้หวันเมื่อต้นปี 2535)
1.2 ด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
การค้าระหว่างไทยและเซเนกัลในปี 2551 มีมูลค่าการค้ารวม 9,042.54 ล้านบาท ไทยนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 274.57 ล้านบาท และส่งออกสินค้าไปเซเนกัลคิดเป็นมูลค่า 8,767.98 ล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจำนวน 8,493.41 ล้านบาท
สินค้าที่ไทยส่งไปเซเนกัล 10 อันดับแรก ได้แก่
1. ข้าว (7,004.6 ล้านบาท)
2.รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
3. ผ้าปักและผ้าลูกไม้
4.เม็ดพลาสติก
5.ผลิตภัณฑ์พลาสติก
6.เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว
7.เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ
8. เสื้อผ้าสำเร็จรูป
9. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
10. ผลไม้กระป๋องและแปรรูป
สำหรับสินค้าเข้าของไทยจากเซเนกัล 10 อันดับแรก ได้แก่
1. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (105.6 ล้านบาท)
2. สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป
3.ด้ายและเส้นใย
4. สินแร่ โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
5. เครื่องดนตรี ของเล่น เครื่องกีฬาและเครื่องเล่น
6.ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ
7. รถยนต์นั่ง
8. เครื่องคอมพิวเตอร์
9. วัสดุทำจากยาง
10. เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าโดยทั่วไปเกิดจากการที่ ตลาดภายในเซเนกัลมีขนาดเล็ก และผู้บริโภคมีกำลังซื้อต่ำ ธุรกิจส่วนใหญ่ของเซเนกัล ยังดำเนินการโดยชาวฝรั่งเศส และเลบานอนที่อาศัยอยู่ ในเซเนกัล และนักธุรกิจเหล่านี้มักมีช่องทางการตลาดเป็นของตนเอง และไม่นิยมติดต่อกับนักธุรกิจไทย ที่ต้องการส่งออกสินค้าไปเซเนกัลโดยตรง ส่วนพ่อค้าเซเนกัล ดำเนินกิจการขนาดเล็กและฐานะการเงินไม่มั่นคง ทำให้เป็น อุปสรรคในการทำการค้าตรงระหว่างกัน
อีกทั้ง เซเนกัลยังมีการเก็บภาษีนำเข้าหลายประเภทซึ่งเป็นภาระแก่ผู้ส่งออกไทย ตลอดจนระยะทางขนส่งที่ห่างไกลทำให้ค่าระวางเรือสูง นอกจากนี้ เอกชนไทยมักประสบปัญหาการค้างชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าของฝ่ายเซเนกัล ปัจจุบัน มีร้านอาหารไทยตั้งอยู่ที่กรุงดาการ์ 1 ร้าน ชื่อว่า Le Jardin Thailandais (สวนไทย) ประชาชนชาวไทยอาศัยอยู่ในเซเนกัลจำนวนประมาณ 12 คน ส่วนมาก ประกอบอาชีพพ่อบ้าน แม่บ้าน พ่อครัว
อนึ่ง เซเนกัลยังเป็นสมาชิกของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งชาติ รัฐในแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ซึ่งมีการลดหย่อนภาษีการค้า ระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้สินค้าบางประเภทของไทย ต้องแข่งขันกับสินค้าที่เซเนกัลนำเข้าจากกลุ่มประเทศสมาชิก ECOWAS เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ และพลาสติกจากโกตดิวัวร์ สิ่งทอจากไนจีเรีย เป็นต้น รวมทั้งเซเนกัล ยังเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพเศรษฐกิจ และการเงิน แห่งแอฟริกาตะวันตก (Treaty on West African Economic and Monetary Union: WAEMU) ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ การขยายกรอบความร่วมมือด้านการเงินและกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าให้มีหลัก ปฏิบัติสอดคล้องกัน และเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางการค้าภายในกลุ่มมากขึ้น
1.3 ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ไทยกำหนดให้เซเนกัลเป็นประเทศที่อยู่ในโครงการความช่วยเหลือของไทย (Thai International Cooperation Programme) ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปทุนการศึกษาฝึกอบรม และดูงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีความชำนาญ และเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา
ทั้งนี้ ฝ่ายเซเนกัลมีความประสงค์จะขอรับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากไทยในด้าน การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ ด้านการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ (Aqua-culture) การปลูกข้าว การแพทย์ สาธารณสุข ในเดือนกันยายน 2549 ผู้แทนจากสำนักความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ไปเยือนเซเนกัล เพื่อหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะเรื่อง การเกษตร การปลูกข้าว การท่องเที่ยว และการป้องกันรักษาโรคมาลาเรีย ขณะนี้ ทางสำนักความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศได้เสนอร่างแผนความร่วมมือ ด้านวิชาการให้กับฝ่ายเซเนกัลพิจารณาอยู่ อนึ่ง ในวันที่ 19 มีนาคม ปี 2550 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงดาการ์ ได้จัดตั้งเครือข่ายเพื่อมิตรภาพและความร่วมมือไทย-เซเนกัล เพื่อเพิ่มกลไกในการส่งเสริมความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับประเทศเซเนกัล โดยสมาชิกที่อยู่ในเครือข่าย มาจากการรวมกลุ่มของผู้ที่เคยได้รับทุนอบรมไป ประเทศไทย ปัจจุบันมีจำนวน 24 คน มาจากหน่วยราชการต่างๆของเซเนกัล
2. ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย
ความตกลงทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ปี 2524)
และได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารระหว่างกัน (ในวันที่ 25 สิงหาคม ปี 2526)
อนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นภาษีซ้อนระหว่างไทยและเซเนกัล(อยู่ระหว่างการเจรจารอบ 2)
3. การเยือนที่สำคัญ
3.1 ฝ่ายไทย
รัฐมนตรี
- เดือนตุลาคม ปี 2525
ร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนเซเนกัลครั้งแรกขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
- เดือนสิงหาคม ปี 2526
ร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเซเนกัล
- วันที่ 18 - 20 สิงหาคม ปี 2537
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเซเนกัลอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 25 - 28 มีนาคม ปี 2550
นางอรนุช โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เยือนเซเนกัลสำรวจตลาดข้าวไทย
- วันที่ 13-14 มีนาคม ปี 2551
นายพิทยา พุกกะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเซเนกัลในฐานะผู้แทนพิเศษเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดองค์การอิส ลามครั้งที่ 11 ณ กรุงดาการ์
3.2 ฝ่ายเซเนกัล
ประธานาธิบดี
- วันที่ 14 - 15 พฤศจิกายน ปี 2533
นาย Abdou Diouf ประธานาธิบดี และคณะแวะผ่านไทยรัฐมนตรี
- วันที่ 18 - 21 ตุลาคม 2531
นาย Djibu Ka รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและความร่วมมือคณะผู้แทนเศรษฐกิจและการค้าเซเนกัล เยือนไทย
- วันที่ 6 - 8 ธันวาคม ปี 2533
นาย Seydina Oumar Sy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ
- วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน ปี 2537
นาย Seydina Oumar Sy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
************************************
มกราคม 2553
เอกสารแนบ |
เรียบเรียงโดย กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2038 E-mail :[email protected] |