วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.พ. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
“ตลาดสินค้าไทยในแอฟริกาตะวันตก”
แอฟริกาตะวันตกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง
ประเทศในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 5 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมกว่า
250 ล้านคน และมีอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรร้อยละ 3 ในอนาคตคาดว่าจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้น
เป็น 430 ล้านคนในปี ค.ศ. 2020[1] ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุปโภค-บริโภคมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ในปี 2518 ประเทศในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกรวม 15 ประเทศ ได้รวมตัวกันก่อตั้ง ECOWAS
(Economic Community of West African States) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน
แอฟริกาตะวันตกเป็นกลุ่มประเทศที่ส่วนใหญ่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ในปี ค.ศ. 2014
มีการบริโภคข้าวจำนวนกว่า 7.8 ล้านตัน โดยเป็นข้าว (เป็นข้าวหักและข้าวนึ่ง) นำเข้าจำนวน 3.4 ล้านตัน[2]
ประเทศไทยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นไปยังเซเนกัลและแอฟริกาตะวันตก
ถึงแม้ว่าข้าวไทยในตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภคจะมีราคาสูงกว่าข้าวจากประเทศอื่น ๆ แต่ก็ได้รับความนิยมและ
มีความต้องการอย่างมากเนื่องจากเป็นข้าวหอมที่มีคุณภาพดี อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศใน
แอฟริกาตะวันตกต่างเร่งส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคข้าวในประเทศ
และเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
นอกจากข้าวไทยที่เป็นที่นิยมในตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภคในแอฟริกาตะวันตก สินค้าไทยที่ได้รับความนิยม
ในแอฟริกาตะวันตกมีความหลากหลาย อาทิ วัตถุดิบในการปรุงอาหาร ซอสปรุงรส น้ำปลา ผลไม้กระป๋อง
อาหารกระป๋อง และเครื่องเทศ และนอกจากสินค้าอุปโภค-บริโภคปัจจุบันชาวแอฟริกาตะวันตกให้ความนิยมนำเข้า
สินค้าสำเร็จรูปจากไทย อาทิ กระดาษ เครื่องประดับทำมือ (hand-made) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สบู่ขัดผิวขาว
เครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องนุ่งห่ม ผ้าทอ และผ้าลูกไม้ รวมถึง ภาชนะบรรจุภัณฑ์เมลามีนซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก
ในเซเนกัลและประเทศในแอฟริกาตะวันตกเนื่องจากผลิตภัณฑ์จากไทยมีความสวยงาม ปราณีต แข็งแรง ราคาเหมาะสม
ดังนั้น โอกาสทางการค้าของไทยในแอฟริกาตะวันตกยังมีความน่าสนใจและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นโอกาสอันดี
ของผู้ผลิตไทยที่ประสงค์ที่จะขยายตลาดสินค้าส่งออกมายังประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก อย่างไรก็ดี สำหรับภาคธุรกิจไทย
ที่สนใจส่งออกสินค้าดังกล่าว ควรทำการศึกษาขั้นตอน กฎระเบียบการส่งออก-นำเข้าผลิตภัณฑ์มายังประเทศในแอฟริกาตะวันตก
อย่างรอบคอบ ซึ่งอาจมีความยุ่งยากด้านภาษา กฏระเบียบข้อบังคับ การเงินการธนาคาร เป็นต้น
**********
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์
กุมภาพันธ์ 2558
[1] http://www.ohchr.org/EN/Countries/AfricaRegion/Pages/WestAfricaSummary1011.aspx
[2] http://agritrade.cta.int/en/layout/set/print/Agriculture/Commodities/Rice/Rice-sector-trends-in-West-Africa
รูปภาพประกอบ