โอกาสการค้าข้าวไทยในเซเนกัล

โอกาสการค้าข้าวไทยในเซเนกัล

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 3,008 view

โอกาสการค้าข้าวไทยในเซเนกัล

 

                    เซเนกัลเป็นประเทศที่มีการนำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลก มีอัตราการนำเข้าข้าวเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านตันต่อปี ร้อยละ 95 ของข้าวที่นำเข้าเป็นข้าวหักที่นำเข้าจากภูมิภาคเอเชียซึ่งตั้งแต่ปี 2540 ข้าวส่วนใหญ่ (2 ใน 3) นำเข้าจากไทย ในขณะที่ข้าวนำเข้าจากอินเดียมีราคาและคุณภาพที่ดีกว่าทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดและตำแหน่งผู้นำเข้าข้าวสูงสุดให้กับอินเดีย

                   ข้าวไทยมีราคาสูงเมื่อเทียบกับข้าวจากประเทศคู่แข่ง (อินเดียและเวียดนาม) เนื่องจากข้าวไทยส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิหักซึ่งเป็นสินค้า luxury คุณภาพสูง ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคเซเนกัลในเขตเมืองและผู้มีรายได้สูง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบหรือแทนที่ได้ คุณลักษณะเฉพาะของข้าวหอมมะลิไทยทำให้ข้าวไทยยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดระดับสูงในเซเนกัลและจะยังคงได้รับความนิยมในเซเนกัลต่อไป ดังนั้น ประเทศไทยอาจเน้นการขายข้าวหอมมะลิหักที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเพื่อจะสามารถใช้คุณภาพข้าวเป็นตัว differentiate ข้าวไทยจากข้าวของประเทศอื่น ๆ ที่มีราคาถูกกว่าหรือแม้แต่ข้าวที่ปลูกในเซเนกัลเอง อย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ในเซเนกัลและประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก

                   ปัจจุบันรัฐบาลเซเนกัลอยู่ระหว่างการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศตามกรอบแผนการพัฒนาเซเนกัล (The Emerging Senegal Plan – PSE) ของประธานาธิบดี Marky Sall โดยมีนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกข้าว คือ

                   1.นโยบาย Riz de la vallee (การส่งเสริมการปลูกข้าวตามที่ลุ่มแม่น้ำเซเนกัล) มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งเพิ่มพื้นที่และผลผลิตข้าวที่เพาะปลูกภายในประเทศให้มีจำนวนเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ

                   2.นโยบาย Auto-sufficiency in Rice มุ่งที่จะเร่งให้เซเนกัลสามารถพึ่งพาตนเองเรื่องข้าว ในปี 2560 ซึ่งปัจจุบันเซเนกัลสามารถปลูกข้าวได้ 4 แสนตัน ในขณะที่มีความต้องการข้าวจำนวน 1.5 ล้านตัน ดังนั้นจึงต้องเร่งทำการเพาะปลูกข้าวให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งจะต้องเพิ่มผลผลิตการปลูกข้าวให้ได้ที่ 12 ตัน/เฮกตาร์ จึงจะเพียงพอกับความต้องการในการบริโภคข้าวภายในประเทศ ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการดังกล่าวรัฐบาลเซเนกัลได้เริ่มมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบของการกำหนดอัตราการนำเข้าข้าว (import quotas) ตามอัตราส่วนของข้าวที่ผลิตได้ภายในประเทศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าข้าวจากไทยต่อไป

                    การที่รัฐบาลเซเนกัลดำเนินนโยบาย Auto-sufficiency in Rice นอกจากมุ่งเน้นเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศแล้วยังมุ่งหวังที่จะเพิ่มการจ้างงานในชนบทและการลดความยากจนด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันชาวเซเนกัลหันมานิยมบริโภคข้าวท้องถิ่นที่มีคุณภาพภายใต้ชื่อสินค้า (ORIGINE SENEGAL) มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี แม้เซเนกัลจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มการผลิตข้าวภายในปี 2560 แต่ความต้องการบริโภคข้าวอาจเพิ่มขึ้นด้วยจึงอาจต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวบางส่วนต่อไป

                    นอกจากบทบาทของไทยในการส่งออกข้าวไปยังเซเนกัล ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ให้รายใหม่ได้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในด้านเทคนิคการเพาะปลูกข้าวแก่เซเนกัลรวมถึงประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกเพื่อตอบสนองนโยบายการส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาการเพาะปลูกข้าว โดยอาศัยจุดเด่นและความเชี่ยวชาญของไทยในเรื่องเทคนิคการปลูกข้าวและความก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรในการกระชับความสัมพันธ์กับเซเนกัลและมิตรประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมนโยบาย Smart Farmers ของรัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเกษตรให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างและส่งเสริมบทบาทของไทยในเรื่องนโยบายความมั่นคงทางอาหารให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลก นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางในการขยายตลาดสินค้าอื่น ๆ ที่มีความต้องการสูง อาทิ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรเพื่อส่งออกไปยังตลาดสินค้าเกษตรไปยังประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกต่อไป

 

****************

 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์

อีเมล์ [email protected]

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ