เซเนกัลเร่งพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อลดการนำเข้า

เซเนกัลเร่งพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อลดการนำเข้า

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มิ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 1,574 view

เซเนกัลเร่งพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อลดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ

 

รัฐบาลเซเนกัลเร่งส่งเสริมการเกษตรภายใต้โครงการพัฒนาความมั่นคงทางอาหาร (National Rice Self-sufficiency Programme – PNA) ตามนโยบายการพัฒนาของเซเนกัล (The Emerging Senegal Plan - PSE)  โดยเฉพาะการปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวเซเนกัลเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และเพื่อหยุดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2557 นาย Macky Sall ประธานาธิบดีเซเนกัลเดินทางไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือในเขต Mboundoum เมือง Dagana ที่รัฐบาลจัดสรรพื้นที่การเกษตรกว่า 32,000 เฮกตาร์ เพื่อให้เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศตามแผนงานโครงการดังกล่าว

                        ในปีงบประมาณ 2557 - 2558 รัฐบาลเซเนกัลได้ทุ่มงบประมาณจำนวน 35,000 ล้านฟรังก์เซฟา (ประมาณ 2 พันล้านบาท) ในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยประธานาธิบดีเซเนกัล ให้คำมั่นว่าภายในปี 2560 เซเนกัลจะผลิตข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และจะกำหนดมาตรการต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การลดภาษีชลประทานสำหรับการเพาะปลูก การจัดสรรที่ดินทำกินเพิ่มเติม การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อลดต้นทุนทางการเกษตรและเพื่อเพิ่มผลผลิต รวมถึงการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าและในที่สุดจะหยุดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ     


                        ในปี 2555 ชาวเซเนกัลบริโภคข้าวรวมกว่า 1.4 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลผลิตภายในประเทศ 30 %และนำเข้าจากต่างประเทศ 70 % โดยพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อินเดีย 46 % ไทย 16 % เวียดนาม 11 % สหรัฐฯ 2 % สาเหตุที่เซเนกัลนำเข้าข้าวจากอินเดียเป็นอันดับต้นเนื่องจากข้าวอินเดียราคาถูก กล่าวคือ ข้าวกระสอบขนาด 50 กิโลกรัม ราคา 26 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ข้าวหอมมะลิหักของไทยขนาดกระสอบ 50 กิโลกรัม ราคา 42 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ข้าวไทยที่ส่งออกไปยังเซเนกัลกว่า 99 % เป็นข้าวหอมมะลิหัก

 

***************

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ