ท่าเรือน้ำลึกกรุงดาการ์

ท่าเรือน้ำลึกกรุงดาการ์

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 มิ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,662 view

“ท่าเรือน้ำลึกกรุงดาการ์ - ประตูการค้าสู่แอฟริกาตะวันตก อเมริกาและยุโรป”

 

ด้วยความโดดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ของประเทศเซเนกัลที่ตั้งอยู่ปลายสุดตะวันตกของทวีปแอฟริกา ส่งผลให้ท่าเรือน้ำลึกกรุงดาการ์ (Port Autonome de Dakar) ประเทศเซเนกัล สามารถเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังทวีปต่าง ๆ อาทิ ยุโรป อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ รวมถึงการขนส่งไปยังภายในทวีปแอฟริกาตะวันตก โดยท่าเรือน้ำลึกกรุงดาการ์มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด 177 เฮกตาร์ (1,770,000 ตร.ม.) ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือน้ำลึกกว่า 10 ท่าเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร และมีศักยภาพที่สามารถรองรับการให้บริการเทียบเรือสินค้าขนาดใหญ่ได้ตลอดทั้งปี
 

 

 

   

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1867 ท่าเรือน้ำลึกกรุงดาการ์ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินกิจการด้านการขนส่งทางทะเลเรื่อยมาเป็นลำดับ ในปี 1904 บริษัท Jammy – Galtier ของฝรั่งเศสได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือแห่งแรกขึ้นในบริเวณดังกล่าว และฝรั่งเศสได้ใช้ท่าเรือดังกล่าวเป็นที่พักสินค้าระหว่างการขนส่งสินค้าจากฝรั่งเศสไปยังทวีปอเมริกาใต้ (บราซิล) โดยในปัจจุบันท่าเรือน้ำลึกกรุงดาการ์ประกอบด้วยท่าเทียบเรือต่าง ๆ ดังนี้


1. Mole 1 - ใช้เป็นท่าสำหรับบรรทุก - ขนถ่ายสินค้าทั่วไป

2. Mole 2 - ขนาดพื้นที่ 80 เฮกตาร์ (8 แสน ตร.ม.) เป็นท่าเรือนำเข้าสินค้าประเภท RO-RO และเรือบรรทุกรถยนต์
    จากประเทศต่าง ๆ อาทิ ยุโรป สหรัฐฯ เพื่อการส่งออก (re-export) ไปยังประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก

3. Mole 3 - เป็นศูนยการขนส่งสินค้าไปยังประเทศในทวีปแอฟริกาตะวันตกที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อาทิ
    มาลี บูร์กินาฟาโซ และไนเจอร์ ผ่านระบบรางและการขนส่งทางบก อาทิ มาลีและเซเนกัลได้ทำข้อตกลงการ
    ขนส่งสินค้าจากท่าเรือดังกล่าวไปยังโกดังสินค้าในมาลี (กรุงดาการ์ – กรุงบามาโก ใช้เวลา 10 วัน)
    โดยร้อยละ 17 ของการขนส่งในทุกพื้นที่ของท่าเรือเป็นการขนส่งเพื่อการส่งออกผ่านท่าเทียบเรือที่ 3      

4. Mole 4 – เป็นท่าเทียบเรือสำหรับสินค้าเกษตร โดยเฉพาะถั่วลิสง ซึ่งในปัจจุบันได้ปรับเพิ่มให้เป็นท่าเรือ
    สำหรับการนำเข้าข้าวและแป้งจากต่างประเทศโดยมีโรงเก็บที่ทันสมัยในบริเวณใกล้เคียง

5. Mole 5 - เป็นท่าเทียบเรือขนาดเล็กใช้ในการขนส่งฟอสเฟต (Phosphate) จากเมือง Taiba เพื่อการส่งออก

6. Mole 8 - เป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่สุด ใช้ในการขนส่งสินค้าทั่วไป รวมถึงการขนส่งสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์
    ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งฟอสเฟตจากเมือง Thies เพื่อการส่งออก

7. Mole 10 (Fishing port) - เป็นท่าเทียบเรือเพื่ออุตสาหกรรมการประมงครบวงจร ได้แก่ โรงแปรรูปผลผลิตทาง
   ประมงน้ำลึก โรงแช่แข็งและห้องเย็น เป็นต้น

8. ท่าเทียบเรือสำราญ เป็นท่าเรือสำราญระหว่างประเทศ และท่าเรือข้ามฟากระหว่างกรุงดาการ์ – เกาะกอเร่ /
    กรุงดาการ์ – เมืองซิงกันชอร์ ทางตอนใต้ของเซเนกัล โดยในปี 2013 มีผู้โดยสารใช้บริการในท่าเรือดังกล่าว
    จำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน  
9. โรงซ่อมเรือ – มีศูนย์ซ่อมเรือขนาดใหญ่ และอู่ซ่อมเรือบนบกจำนวน 2 ท่า ซึ่งสามารถรองรับการให้บริการการ
     ต่อเรือและการซ่อมเรือได้อย่างครบวงจร

10. ท่าเทียบเรือบรรทุกน้ำมัน เป็นท่าเทียบเรือขนส่งน้ำมันดิบ/ เรือเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเพื่อบรรจุในโรงเก็บน้ำมัน
      สำหรับใช้ในประเทศ รวมถึงการเป็นท่าสำหรับจอดพัก/ เติมน้ำมันเชื้อเพลิงแก่เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ 

11. ท่าเทียบเรือขนส่งตู้สินค้า  เป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์ และ
      จัดเก็บตู้สินค้า โดยมีปั้นจั่นขนาดใหญ่หน้าท่าจำนวน 4 คัน และปั้นจั่นขนาดกลางจำนวน 10 คัน
      พร้อมเครื่องมือทุ่นแรงบริเวณหลังท่าในการจัดเรียงตู้สินค้าด้วยระบบคอมพิวเตอร์

12. โกดังสินค้า  มีพื้นที่รวมขนาด 210,000 ตร.ม. ประกอบด้วย โกดังสินค้าขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการเป็น
      จุดเชื่อมโยงการขนส่งไปยังในกลุ่มอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก (Sub-regional logistic chain) ต่อไป

ในปี 2013 มีสินค้าขนส่งมายังท่าเรือน้ำลึกกรุงดาการ์ จำนวนกว่า 3 ล้านตัน ได้แก่
1) สินค้าอุปโภคประเภท non-denominated จำนวน 1.2 ล้านตัน
    ซึ่งประกอบด้วยสินค้าที่หลากหลาย แต่มีอัตราการนำเข้าที่ลดลง
2) สินค้าเพื่อการบริโภค อาทิ ข้าว แป้ง น้ำตาล และสินค้าเกษตรแปรรูปอื่น ๆ จำนวน 8.9 แสนตัน 
     โดยมีแนวโน้มการนำเข้าปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 19.9  
3)  เหล็กกล้า มีการนำเข้าจำนวน 3 แสนตัน  
4) เคมีภัณฑ์ มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 โดยนำเข้าประมาณ 2.9 แสนตัน  
5) วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง จำนวน 1.9 แสนตัน
6) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 8.7 หมื่นตัน 
7) เมล็ดพันธุ์ทางการเกษตร มีอัตรานำเข้าสูงที่สุด คือ ร้อยละ 454.7 โดยนำเข้าจำนวน 1,800 ตัน

ทั้งนี้ ท่าเรือน้ำลึกกรุงดาการ์มีระยะห่างจากท่าเรือกรุงเทพฯ ประมาณ 1 หมื่นไมล์ทะเล
ใช้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าประมาณ 43 วัน   

ท่าเรือน้ำลึกกรุงดาการ์ได้พัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพงานบริการของท่าเทียบเรือต่าง ๆ นอกจากนี้ ได้นำระบบการบริหารจัดการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานและรองรับการขยายธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ มีการบริหารงานโดย Board of Director ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมลูกจ้างเป็นคณะกรรมการ อาทิ กระทรวงเครษฐกิจพาณิชนาวี กระทรวงเศรษฐกิจการคลัง สมาคมลูกจ้างการท่า และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ การค้าของประเทศ และเป็นประตูการค้าสู่แอฟริกาตะวันตก อเมริกาและยุโรปต่อไป

อ้างอิง :  www.portdakar.sn

 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์

อีเมล์ [email protected]

มิถุนายน 2558

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ